ประวัติเจ้าอาวาส


พระกัณรัศ สารบุญโญ

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ในปีขาลโทศก พุทธศักราช ๑๘๙๑ ต่อจากนั้นถึงปีมะเส็ง เบญจศก พุทธศักราช ๑๘๙๖ ทรงอุทิศพระตำหนักเดิมที่เวียงเหล็กเป็นพระอาราม พระราชทานนามว่า วัดพุทไธศวรรย์ โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสี ในตำแหน่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับนามของเจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ ตั้งแต่แรกสถาปนาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ประมาณปีพุทธศักราช ๒๒๓๓ ด้วยทรงรำลึกถึงพระคุณของพระอาจารย์ดีเจ้าอาวาสวัดพระยาเมน ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เคยถวายคำพยากรณ์ไว้ว่า พระองค์จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดพระยาแมน และทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เพระอาจารย์ดี เป็นพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กับโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๓-๒๒๔๕

ต่อมาในสัมยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประเทศลังกาส่งฑูตมาขอพระราชทานพระสงฆ์ไทยไปสืบพระพุทธศาสนา ให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชพุทธศาสนิกชน ในประเทศลังกา ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์ คัดเลือกพระสงฆ์ไทยมีพระอุบาลี พระอริยมุนี เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไทยเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนายังประเทศลังกา จึงเกิดคณะสงฆ์สยามวงศ์ขึ้นในประเทศลังกาจนทุกวันนี้

เรื่องราวเกี่ยวกับวัดพุทไธศวรรย์ ขาดหายไปตลอดช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฎหลักฐานว่าในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระครูพุทธวิหารโสภณ เจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ ในขณะนั้นได้ขอพระราชทานปฏิสังขรณ์ยอดพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ และในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระครูวินยานุวัติคุณ เจ้าอาวาสขอพระราชทานปฏิสังขรณ์โบสถ์

ในรัชกาลพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักฐานว่า พระครูอุเทศธรรมวินัย (ชม) เป็นเจ้าอาวาสและได้ปฏิสังรณ์โบสถ์ โดยรื้อผนังโบสถ์ออกทั้งหมดแล้วก่อขึ้นใหม่โดยเจาะช่องให้แสงสว่างเข้ามาทาง ฝาผนังทั้งสองด้านๆ ละ ๔ ช่อง

ต่อมาในช่วงรัชกาาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุระบุนามเจ้าอาวาส วัดพุทไธศวรรย์ ระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๔๗๕ จำนวน ๓ รูป คือ เจ้าอธิการฟักเจ้าอธิการโป๋ และพระครูสมุห์สังวร ต่อจาก พ.ศ. ๒๔๗๕  ก็ไม่ปรากฏหลักฐานนามเจ้าอาวาสอีกจนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ จึงปรากฏนามเจ้าอาวาสตามลำดับดังนี้

๑. เจ้าอธิการคง                         เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง        พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๔๙๓
๒. พระครูสาธุกิจโกศล (ยอด)                      ”                       พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๔๙๗
๓. พระครูภัทรกิจโสภณ (หวล)                     ”                       พ.ศ. ๒๔๙๘ – ปัจจุบัน

ลำดับเจ้าอาวาส
พระสงฆ์ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพุทธไธศวรรย์ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมี ดังนี้
๑. พระอาจารย์ฟัก เดิมอยู่วัดธรรมิกราช ต.ท่าวาสุกรี อำเภอพระครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ในรัชกาลที่ ๕ (ไม่ปรากฎราชทินนาม) ท่านเป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรซ่อมกำแพงแก้วด้านหน้าวัด เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ และทำการซ่อมแซมประพุทธปรางค์
๒. พระอาจารย์อิน ได้รื้อย้ายสร้างหอระฆังขึ้นใหม่ ซึ่งเดิมอยู่ภายในกำแพงแก้ว
๓. พระสมุห์วอน ไม่ปรากฎหลักฐานว่าเป็นฐานานุกรม ของท่าผู้ใด
๔. พระครูอุปเทศธรรมวินัย (ชม พรหมโชติ) ดำรงตำแหน่งเข้าอาวาส เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านเป็นผู้บูรณะซ่อมแซมผนังอุโบสถและโบราณสถาน รวมทั้งอาคารต่างๆ ภายในวัดให้มีสภาพสมบูรณ์แข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน
๕. พระอธิการสนธิ์
๖. พระอาจารย์คง ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลสำเภาล่มอีกตำแหน่งหนึ่ง
๗. พระครูสาธุกิจโกศล (ยอด มนิสสโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๕ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
๘. พระครูภัทรกิจโสภณ (หวล ภูริภทฺโท) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึงปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ท่านเป็นผู้นำในการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุภายในวัดให้มีสภาพสวยงามมั่นคงแข็งแรง อุโบสถ วิหาร พระพุทธรูปภายในพระระเบียงรอบองค์พระปรางค์ พระพุทธรูปภายในวิหารต่างๆ หลายหลังเท่าที่สามารถทำได้ นอกจากนี้ท่านยังได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ว่างภายในวัดให้เป็นระเบียบ สวยงาม เช่น จัดทำสวนดอกไม้ประดับ นอกจากนี้ท่านยังได้ทำการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ว่างภายในวัดให้เป็นระเบียบ สวยงาม เช่น จัดทำสวนดอกไม้ประดับ และปลูกสวยป่าตามโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น นับว่าท่านพระครูภัทรกิจโสภณ เป็นกำลังสำคัญในการทะนุบำรุงและปรับปรุงฟื้นฟูวัดพุทไธศวรรย์ให้มีความ เจริญ รุ่งเรือง และเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป

04 หลวงพ่อหวล ภูริภทฺโท แห่งวัดพุทไธศวรรย์

พระครูภัทรกิจโสภณ (หวล ภูริภทฺโท)